サオ・サオ・サオ vs 少女隊

“สาวสาวสาวได้รับแรงบันดาลใจจากโชโจไต”

“ภาพลักษณ์ได้ยินว่ามาจากวงเกิร์ลกรุ๊ปญี่ปุ่นอย่างโชโจไต”

“โชโจไต ต้นแบบ สาวสาวสาว”

“วงโชโจตัยแห่งไทยแลนด์”

จนถึงทุกวันนี้วาทกรรมเรื่องนี้ได้รับการยอมรับและกลายเป็นมรดกทางความคิดในกลุ่มผู้ติดตามวัฒนธรรมป๊อปจำนวนมิใช่น้อย มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

ก่อนอื่นต้องมองย้อนกลับไปที่ต้นตอของสิ่งที่เราเรียกันว่า เกิร์ลกรุ๊ป กันเสียก่อน ในเดือนมกราคม ปี 1961 The Shirelles นำเพลง Will You Still Love Me Tomorrow ติดอันดับ 1 ในอเมริกาเป็นเวลาสองสัปดาห์ นั่นคือปฐมบทความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ของคณะนักร้องหญิงล้วนที่มีซิงเกิ้ลอันดับหนึ่งในชาร์ทบิลบอร์ด จากนั้นก็มีวงดังอย่าง The Supremes และ The Ronettes (วงโปรดแอดมิน) ตามออกมา

อิทธิพลของวัฒนธรรมป๊อปตะวันตกเข้าครอบงำญี่ปุ่น ในช่วงที่ญี่ปุ่นต้องฟื้นฟูประเทศหลังแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง Soft Power ทุกรูปแบบถูกซึมซับเข้าไปกับวิถีชิวิตของชาวอาทิตย์อุทัย พวกเขารับมา ปรับใช้ และได้สร้างวัฒนป๊อปที่เข้มแข็งของตนเองขึ้นมา จนวัฒนป๊อปของญี่ปุ่นแผ่กระจายไปทั่วโลกตั้งแต่ยุค 60 เป็นต้นมา ทั้งที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้วางแผนจะใช้อำนาจละมุนเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันขยายอำนาจทางวัฒนธรรมแบบที่เกาหลีทำในปัจจุบันแต่อย่างใด

ในยุค 70 ประเทศไทยมีการนำหนังชุดของญี่ปุ่นเข้ามาฉายทางทีวีหลายเรื่อง รวมถึงหนังเด็กในตำนานอย่าง อุลตร้าแมน และ ไอ้มดแดง ถ้าเป็นเพลงชาวไทยก็จะรู้จักนักร้องญี่ปุ่นผ่านนิตยสารทีวีริวิวเป็นต้น ถ้าจะมีวงเกิร์ลกรุ๊ปสักวงที่คุณระย้าแห่งค่ายรถไฟดนตรีมองเป็นแนวทางในการปั้น สาว-สาว-สาว ขึ้นมาวงนั้นต้องมาจากยุคนี้ และวงที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ Candies (キャンディーズ)

สาว-สาว-สาว (サオ・サオ・サオ) และ โชโจไต (少女隊) เดบิวต์งานชุดแรกในเวลาไล่เลี่ยกัน รักปักใจ ออกในปี 1982 ส่วน 少女隊Phoon ออกในปี 1984 เรียกว่าเป็นวงร่วมสมัย วาทกรรมที่ว่าสาวกำลังสามเลียนแบบโชโจไตมาเกิดขึ้นในช่วงที่โชโจไตเริ่มเข้ามาดังในบ้านเราในปี 1986 ผ่านร้านขายวิดีโออย่าง แมงป่อง โซลาร์เฮาส์ และ โรบ็อท นิตยสารดาราญีปุ่นก็เลยโหมลงเรื่องและภาพตามกระแส ทั้งๆที่โชโจไตจัดว่าเป็นวงระดับเกรด B ในประเทศบ้านเกิดของตน

ความแรงของโชโจไตในกรุงเทพทำให้ผู้จัดคอนเสิร์ตบ้านเรานำโชโจไตมาแสดงที่ MBK HALL ในวันที่ 28 มิถุนายน 1986 ซึ่งคอนเสิร์ตประสบความสำเร็จมาก จนอีกครึ่งปีต่อมาต้องเปิดการแสดงอีกครั้งสองรอบ ในวันที่ 24-25 มกราคม 1987 ที่ เดอะ ฟัลคอน เดอะ มอลล์ 4 วัยรุ่นที่โตขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าวและไม่ทัน สาว-สาว-สาว ในยุคต้น (1982-1985) จะมองภาพ สาว-สาว-สาว เป็นวงที่เลียนแบบโชโจไตทันที

ถ้าเปลี่ยนวาทกรรมเป็น สาว-สาว-สาว มีสไตล์การแต่งกายอ้างอิง (reference) ตามแฟชั่นนักร้องญี่ปุ่นดูจะถูกต้องกว่า เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่ สาว-สาว-สาว ปกปิดแต่อย่างใด Shibugakitai (シブがき隊) คือหนึ่งในกลุ่มนักร้องที่พวกเธอคลั่งไคล้ เพลงญี่ปุ่นจากหลายๆวงที่พวกเธอชอบเป็นการส่วนตัวถูกนำมาร้องในหลายๆคอนเสิร์ท โพสต์นี้แอดมินจึงตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อหักล้างวาทกรรมที่โปรยหัวไว้ด้านบนให้เบาบางไปบ้างตามสมควร

This entry was posted in 2561. Bookmark the permalink.